วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สังคมก้มหน้า คืออะไร ?

ศัพท์บัญญัติใหม่ ในโลกออนไลน์ชื่อ “สังคมก้มหน้า”

             เพราะปัจจุบันนี้ ยุคที่คนเรามีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกันอย่างน้อยคนละ 1 เครื่อง หรืออาจมากกว่า 1 เครื่อง ทำให้ คนเราไม่ค่อยใส่ใจคนรอบข้าง หรือแม้แต่ใจลอยเพราะว่าถูกสิ่งเร้าจากเนื้อหาในจอสมาร์ทโฟน หรือว่าแท็บเล็ต จนลืมรอบข้าง
 
              ที่น่ากลัวคือ แม้แต่เวลาข้ามถนนหรืออยู่กลางถนน ก็ยังจ้องมองไปที่จอภาพ มากกว่าที่จะระมัดระวังตัวจากภยันตรายรอบข้าง บางทีได้รับสัญญาณก็ไม่รับรู้ เพราะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ปฏิสัมพันธ์ที่อยู่บนโลกไซเบอร์ ไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริง หรือไม่ได้อยู่กับสติ เป็นปราการด่านสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวสักเท่าไหร่แล้ว
ผลกระทบ
          1)  มีผลทำให้เราใจร้อน คาดหวังผลเร็วขึ้น อารมณ์หงุดหงิดง่าย 
              แต่เดิมในยุคที่เราสื่อสารด้วยการ ส่งจดหมายติดแสตมป์ต้องใช้เวลาเป็นหลักวัน กว่าที่จะสื่อสารกันได้หากว่าเป็นข้ามทวีปด้วยแล้วเป็นหลักสัปดาห์ทีเดียว
               แต่ปัจจุบันส่งอีเมลข้ามทวีปไปแล้วหากมองนาฬิกาแล้วคิดว่า อีกฝ่ายน่าจะต้องตื่นแล้ว และไม่ตอบมาในทันที อีกฝ่ายก็รู้สึกขุ่นมัวแล้วว่าอีกฝ่ายหายไปไหน ทำไมไม่ตอบ เพราะมีสมมุติฐานเบื้องต้นว่า โลกหมุนเร็วแล้วทุกคนต้องเร็วเท่ากัน พอเกิดความคาดหวังแล้วไม่สมหวัง ก็เกิดอารมณ์ขุ่นมัว และบ่อย ๆ ครั้งก็ไม่รู้ว่า นั่นคือการเกิดโทสะขึ้นมาแล้ว เก็บความคับข้องใจกลายเป็นอารมณ์ต่อไปอีก

          2) ขาดสติ ขาดความรู้ตัวทั่วพร้อม จนอาจจะก่อเกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น 
              นอกเหนือไปจากนี้ การที่สังคมเราเป็น “สังคมก้มหน้า” ใจลอย จิตไปจดจ่ออยู่กับเนื้อหา “คอนเทนต์” บนหน้าจอสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต จนไม่เหลือปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ทั้ง ๆ ที่บางทีอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องระมัดระวังตัว เช่น การข้ามถนน หรือขับรถอยู่บนทางด่วน นั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนจิตใจแบบใด “ความรู้ตัวทั่วพร้อม” ยังอยู่ครบดีหรือไม่ หรือว่าจิตใจเราลอยไปอยู่กับสิ่งอื่นและไม่สามารถที่จะควบคุมด้วยตนเองได้อีกต่อไปแล้ว 


          แน่นอนว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ มีคุณูปการต่อการผลักดันโลกไปข้างหน้า แต่การใช้และปล่อยให้ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น ต่าง ๆ มามีอิทธิพลเหนือ “ฮิวแมนแวร์” หรือมนุษย์ผู้มีศักยภาพในการควบคุมจิตใจตนและใช้จิตใจอันหนักแน่นและมีทิศทางของตนในการใช้ประโยชน์สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา ที่สุดแล้วเราก็กลายเป็นเพียงทาสของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เพื่อนมนุษย์เราผลิตขึ้นมา แทนที่เราจะเป็นนาย เราจะกลายเป็นบ่าวไปสมบูรณ์แบบ


เพิ่มการสบตากับผู้อื่น
          การวิเคราะห์ของบริษัท Quantified Impressions ระบุว่าคนเรามักสบตากัน 30 - 60 % ของเวลาที่ใช้ในการสนทนา แต่ข้อแนะนำคือ ควรเพิ่มการสบตาให้มากขึ้นเป็น 60 - 70 % เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อด้านอารมณ์หรืออารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้น แต่ปัญหาหนึ่งของเรื่องนี้คือการมีอุปกรณ์มือถือใช้งานและการทำงานหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในคนกลุ่มหนุ่มสาวในสังคมก้มหน้า ซึ่งทำให้ต้องใช้สายตาจับที่หน้าจอแทนที่จะสบตากับคู่สนทนา
         อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาเตือนว่าการก้มหน้าลงตรวจอุปกรณ์มือถืออยู่เป็นประจำอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า บุคคลนั้นไม่พอใจกับชีวิตหรือความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่ กับผู้อื่น ทำให้ต้องคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวในเครือข่ายของตนอยู่เป็นประจำเพื่อดูว่าตนได้พลาดโอกาสทางสังคมเรื่องใดไปบ้าง

          ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การสบตากับผู้อื่นระหว่างการสนทนาช่วยแสดงถึงความมั่นใจและการให้ความเคารพต่อผู้อื่น และการสบตาจะให้ผลดีที่สุดหากใช้เวลานานราว 7-10 วินาทีกับคู่สนทนาแบบตัวต่อตัว และ 3-5 วินาทีสำหรับการสนทนาแบบเป็นกลุ่ม

ปัญหาวัยรุ่นติด LINE หนัก หวั่นเป็นสังคมก้มหน้า 
           สธ. ห่วงวัยรุ่นติดไลน์ขั้นหนัก ชี้ทำพฤติกรรมแข็งกระด้าง หวั่นเป็นสังคมก้มหน้า พบร้อยละ 51 ตื่นนอนเล่นทันที
           นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนรู้สึกห่วงใยถึงพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้สื่อสารพูดคุยอย่างมาก
            ล่าสุดผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในเขต กทม. โดยผลสำรวจระบุว่า
           เขต กทม. มีการใช้มากที่สุดถึงร้อยละ 84
           ภาคกลางร้อยละ 75
           ภาคเหนือร้อยละ 68
           ภาคใต้ร้อยละ 67
           ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 64
ข้อดี - ข้อเสียการใช้ LINE

 การเล่นไลน์นั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย
 
  • ผลดี : อาจจะสร้างความสะดวกในการสื่อสาร สามารถส่งได้ทั้งภาพและเสียง อีกทั้งประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์  
  • ผลเสีย : ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ และผู้ปกครองไม่ชี้แนะ หรือควบคุมการใช้งานอย่างจริงจัง ก็จะส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
       โดยเฉพาะพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า ซึ่งจะทำให้การสื่อสารแบบเผชิญหน้าลดน้องลง และอาจจะเป็นนิสัยที่ติดต่อต่อไป
        ในส่วนของผู้ใหญ่ก็มีผลกระทบเช่นกัน ซึ่งหากผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง หรือขาดความระมัดระวัง ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุหรือจราจรเพิ่มขึ้น
          ขณะที่ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นไลน์ที่เด็กนิยมเล่นกันนั้น บางคนเล่นทุกวัน จนทำให้เด็กสูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันที่ควรจะเป็น เช่นเรื่องสัมพันธภาพ การวางตัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการที่สำคัญของวัยรุ่น และการเล่นจนติดเป็นนิสัยนั้น จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง
 
หนทางป้องกัน - แก้ไข เด็กติด LINE
        ล่าสุดพบว่า วัยรุ่นร้อยละ 51 ตื่นมาเล่นทันที อีกร้อยละ 35 เล่นก่อนนอนทุกวัน   เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ปกครองควรวางกติกาการเล่นให้กับเด็ก ทั้งกำหนดเวลาในการเล่น ไม่ให้มีการใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลาไม่เหมาะสม
          อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้เปิดให้บริการปรึกษาแก่เด็กและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดเกม โดยสามารถขอคำปรึกษาได้ที่  โทรศัพท์ หมายเลข 02-248-8990 หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 สำหรับ 24 ชั่วโมงให้บริการทั่วประเทศ



ที่มา : http://swis.act.ac.th/html_edu/cgi-bin/act/main_php/print_informed.php
lสืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 15 / 06 / 2558 เวลา 13:57 
เรียบเรียงโดย นายจตุรงค์  ทองศรี